การพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

โดย: นายมณู ดีตรุษ [IP: 202.29.224.xxx]
เมื่อ: 2022-08-01 13:37:46
1 ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย



2 ชื่อผู้วิจัย นายมณู ดีตรุษ



3 ความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย



การจัดการศึกษาของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมานั้นยังมีข้อบกพร่อง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านบุคลากร ด้านหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ ทำให้การศึกษาของประเทศไทยไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยนั้นนอกจากจะไม่เป็นที่น่าพอใจแล้วยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อีกทั้งหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายประการ คือ การกำหนดหลักสูตรจากส่วนกลางไม่สามารถที่จะสะท้อนสภาพความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษา ชุมชนและท้องถิ่นได้ การจัดหลักสูตร และการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่สามารถที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ การนำหลักสูตรไปใช้ไม่สามารถสร้างพื้นฐานความคิด สร้างวิธีการเรียนรู้ให้คนไทยมีทักษะในการจัดการและการดำเนินชีวิตให้สามารถเผชิญปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ การจัดการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียนใช้ภาษาต่างประเทศในการติดต่อสื่อสารและการค้นคว้าหาความรู้ได้ จากปัญหาในด้านการจัดการศึกษาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องหันมาทบทวนรูปแบบและแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ กล่าวคือ ทุกฝ่าย ทั้งครูผู้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ผู้เรียน ชุมชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาและร่วมมือกันปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อที่จะทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศอย่างแท้จริง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้ในการปฏิรูปการศึกษา และเป็นเครื่องมือกำกับชี้นำแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศไทย ได้กำหนดให้การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม ทุกหมวดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะมุ่งประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนทั้งสิ้น โดยเฉพาะหมวด 4 ที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวการจัดการศึกษา ในมาตรา 22 กล่าวว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ” ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษาจะต้องจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความถนัด ตามความสามารถ และลงมือปฏิบัติค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ แหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และเชื่อมโยงกับชีวิตจริงจนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพที่แท้จริง ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จคือ “ครูผู้สอน” ซึ่งครูผู้สอนตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาจะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลายและมีอิสระมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทในการจัดการเรียนรู้จากเดิมครูผู้สอนที่เป็นผู้ชี้นำหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งยังต้องจัดเตรียมสถานการณ์การเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักพึ่งตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้อื่นๆ อีกมากมายด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีเรียน ผู้เรียนจะเรียนรู้มากกว่าเห็น เข้าใจมากกว่าทำ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ความสำเร็จของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับครูผู้สอน ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนแบบเดิมๆ โดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดมาเป็นผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีต่างๆ อย่างลึกซึ้ง และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิด ประสบการณ์การสอน ความสัมพันธ์ของผู้สอนและผู้เรียนต้องอยู่ในลักษณะของการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนางานสู่การปฏิรูปการศึกษาโดยการเร่งพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมครบวงจร ประกอบด้วย การส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียน การวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง การสนับสนุนให้ผู้เรียนจัดทำโครงงาน การจัดระบบข้อมูลช่วยเหลือผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งในการนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปปฏิบัติอาจพบปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาจากครูผู้สอน ได้แก่ ครูผู้สอนเคยชินกับวิธีสอนแบบเดิม ครูผู้สอนรู้สึกว่าถูกลดบทบาทและหมดอำนาจในห้องเรียน ครูผู้สอนไม่มั่นใจในเทคนิค ทักษะ และวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนว่าเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพียงใด ครูผู้สอนส่วนมากเห็นว่า การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทำให้ผู้เรียนเรียนได้ช้า ไม่ทันใจ ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่มีระดับสติปัญญาหรือผลการเรียนต่ำ ปัญหาที่เกิดจากสถานศึกษา ได้แก่ การเตรียมการด้านต่างๆ ของสถานศึกษาไม่จริงจังต่อเนื่อง บุคลากรบางฝ่ายไม่เข้าใจแนวทางวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จำนวนผู้เรียนในแต่ละห้องเรียนมีมากเกินไป ปัญหาที่เกิดจากผู้เรียน ได้แก่ ผู้เรียนส่วนมากขาดทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ การปฏิบัติ การอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล และการทำงานเป็นกลุ่ม ผู้เรียนเคยชินกับการรับความรู้มากกว่าปฏิบัติเพื่อค้นหาความรู้เอง จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ การนำแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติในชั้นเรียนและในสถานศึกษาจึงต้องกระทำอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างจริงจังให้การเรียนรู้ประสบผลสำเร็จ มีความชัดเจนในหลักการ วิธีการ เทคนิค และทักษะต่างๆ ในการจัดการทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ดังจะเห็นได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดในการนำแนวคิดไปจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้สำเร็จจริง

วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาที่จัดการทางด้านวิชาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินงาน ให้ครูผู้สอน และบุคลากร ได้มีการพัฒนาตนเองตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา โดยการพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในการเสริมสร้างสมรรถภาพของครูผู้สอนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะพัฒนาพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป



4 คำถามการวิจัย



4.1 สภาพพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นอย่างไร

4.2 กระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นอย่างไร

4.3 ผลการตรวจสอบความเหมาะสม, ความเป็นไปได้, ความสอดคล้อง และความเป็นประโยชน์ ของกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีมากน้อยเพียงใด

4.4 ผลการทดลองใช้กระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นอย่างไร



5 วัตถุประสงค์ของการวิจัย



5.1 เพื่อศึกษาสภาพพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

5.2 เพื่อสร้างรูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

5.3 เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

5.4 เพื่อพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



6 เอกสารและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง



การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคน สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ การจัดการศึกษาทั้งสามรูปแบบในหมวด 3 ต้องเน้นทั้งความรู้ คุณธรรม และ กระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องสาระความรู้ ให้บูรณาการความรู้และทักษะด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละระดับการศึกษา ได้แก่ ด้านความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ด้านภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทย ด้านคณิตศาสตร์ ด้านการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน และความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งให้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริง ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างสมดุล และปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดี คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา นอกจากนั้น ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ยังต้องส่งเสริมให้ครูผู้สอนจัดบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ครูผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนรู้และแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงาน และการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ การประเมินผลผู้เรียน ให้สถานศึกษาพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การร่วมกิจกรรม และการทดสอบ ส่วนการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ ให้ใช้วิธีการที่หลากหลายและนำผลการประเมินผู้เรียนมาใช้ประกอบด้วย

การจัดกิจกรรมการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ให้ผู้เรียนมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถคิดค้น สร้าง และสรุปข้อความรู้ด้วยตนเอง และนำข้อความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความรู้ใหม่และสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนสามารถนำวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยมีครูผู้สอนคอยอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำ และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คือ เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ครูผู้สอนก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน และการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้

รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูผู้สอน จำแนกได้ออกเป็น 4 กลุ่มรูปแบบ คือ 1) กลุ่มรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดและการจัดการ 2) กลุ่มรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใช้ประสบการณ์จริง 3) กลุ่มรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ และ 4) กลุ่มรูปแบบการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้จากแหล่งวิทยาการ ซึ่งแต่ละกลุ่มรูปแบบจะประกอบด้วยรูปแบบ และวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลายที่เหมาะสมกับลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้า ทดลอง และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตามความถนัด ความสนใจ ด้วยวิธีการศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับชีวิตจริงทั้งในและนอกห้องเรียน มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนด



7 วิธีดำเนินการวิจัย



7.1 กลุ่มเป้าหมาย

7.1.1 ประชากร ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองของผู้เรียน ในวิทยาลัย การอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

7.1.2 กลุ่มตัวอย่าง/กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

7.1.2.1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาสภาพพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน โดยแบบสอบถาม คือ ครูผู้สอน ผู้เรียน จำนวน 214 คน

7.1.2.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับสภาพการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน คือ ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง

7.1.2.3 กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้วิเคราะห์ SWOT เกี่ยวกับทรัพยากรที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพ ด่านซ้าย

7.1.2.4 กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบความเหมาะสม, ความเป็นไปได้, ความสอดคล้อง และความเป็นประโยชน์ ของกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จำนวน 7 คน

7.1.2.5 กลุ่มเป้าหมายที่ทดลองใช้รูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหา จำนวน 3 รายวิชา ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564

7.1.2.6 กลุ่มเป้าหมายที่ทดลองใช้รูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ครูผู้สอนทุกคนๆ ละ 1 รายวิชาที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564

7.1.2.7 กลุ่มเป้าหมายที่ประเมินกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ของวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

7.2 การพัฒนากระบวนการมี 4 ระยะ

ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน ในวิทยาลัยการอาชีพ ด่านซ้าย จังหวัดเลย

ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ระยะที่ 3 การตรวจสอบความเหมาะสม, ความเป็นไปได้, ความสอดคล้อง และความเป็นประโยชน์ ของกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ระยะที่ 4 การทดลองใช้กระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



8 ผลการวิจัย



8.1 การศึกษาสภาพพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาสภาพพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ในวิทยาลัย การอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น แบบสอบถามสำรวจพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน แบบตรวจสอบเอกสารการสอน แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่มเพื่อการวิเคราะห์ SWOT ซึ่งสรุปได้ว่า การจัดทำแผนการเรียนรู้ของครูผู้สอนไม่สอดคล้องกับหลักสูตรและความต้องการของผู้เรียนและบางส่วนไม่ได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนขาดความสนใจในการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนขาดทักษะในการปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้, สรุปองค์ความรู้ร่วมกัน, การคิดแก้ปัญหา และวางแผนแก้ปัญหา เครื่องมือการวัดผลประเมินผลไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์รายวิชาและไม่มีเกณฑ์การประเมินผลอย่างชัดเจน

8.2 การสร้างรูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและจากการเก็บรวมข้อมูล กำหนดเป็นรูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ "การเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม" ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อหาฉันทามติ แสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่อรูปแบบฯ ผลการประชุมกลุ่มที่นำเสนอมีฉันทามติเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์

8.3 การตรวจสอบความเหมาะสม, ความเป็นไปได้, ความสอดคล้อง และความเป็นประโยชน์ ของกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โดยสอบถามในวงกว้างใช้แบบสอบถามเพื่อตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความสอดคล้อง และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบฯ ต่างเห็นว่ารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความสอดคล้องและความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด และจากผลการประชุมสนทนากลุ่มเกี่ยวกับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ และความสอดคล้องของรูปแบบฯ โดยคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา เพื่อหาฉันทามติ พบว่ามีมติเป็นเอกฉันท์

8.4 การทดลองใช้กระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ผู้วิจัยได้นำ รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม ทดลองใช้ จำนวน 3 รายวิชา คือ ประเภทวิชาอุตสาหกรรม ประเภทวิชาพาณิชยกรรม และวิชาสามัญ ทำการประเมินเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปรับปรุงรูปแบบฯ ให้สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง และได้นำไปทดลองใช้ ซึ่งมอบหมายให้ครูผู้สอนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้ายทุกคนนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมีการติดตามผลการทดลองใช้ด้วยวิธีการนิเทศ ติดตาม บันทึกผล ครูผู้สอนจัดทำวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ซึ่งก็เป็นผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้น ผู้วิจัยได้พัฒนาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็น "รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม"



9 รูปแบบกระบวนการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

(รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม)



9.1 การนำเข้าสู่บทเรียน/เสนอปัญหา/ประเด็น

เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนเสนอปัญหา เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ แก่ผู้เรียน หรือให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กับสาระการเรียนรู้ในบทเรียน เหตุการณ์หรือปัญหาที่ครูผู้สอนเสนอต้องชัดเจน สามารถอธิบายได้ มีข้อมูลมายืนยันได้ แปลกใหม่ น่าฉงน ก่อให้เกิดความรู้ ประการสำคัญคือ ปรากฏการณ์ควรเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และมีรายละเอียดต่างๆ และหากเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียนก็จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและมองเห็นปัญหาต่างๆ สามารถกำหนดสิ่งที่เป็นปัญหาที่อยากรู้อยากเรียนได้ และเกิดความสนใจใคร่รู้ที่จะค้นหาคำตอบ

9.2 ศึกษาวิเคราะห์ กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาและวางแผนแก้ปัญหา

เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจในปัญหา หรือเป็นการกำหนดสมมติฐานเพื่อนำไปสู่วิธีการวางแผนแก้ปัญหา ผู้เรียนอาจเสนอแนวคิด วิธีการหาคำตอบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม และกลุ่มอื่นๆ ครูผู้สอนอาจนำเสนอและเพิ่มเติมให้ชัดเจนก็ได้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน

9.3 การเก็บข้อมูล

เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนได้เก็บข้อมูล ได้ค้นคว้าหาความรู้ ได้ลงมือปฏิบัติ ทดลอง เพื่อหาคำตอบของคำถามหรือประเด็นที่กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินการในขั้นนี้ผู้เรียนควรแบ่งหน้าที่ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบอย่างอิสระ ตรงตามสมมติฐานที่กำหนดขึ้น และครอบคลุมมิติทุกด้านของสมมติฐาน และมีการจดบันทึกข้อมูล ครูผู้สอนเป็นผู้สังเกตและอำนวยความสะดวก

9.4 การวิเคราะห์ข้อมูล/รวบรวมความรู้ เสนอผลการเรียนรู้

เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนพิจารณาการเก็บข้อมูลของกลุ่ม แลกเปลี่ยนความรู้ ทำการอภิปรายและสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ถูกต้องและเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นคำตอบหรือไม่ หากข้อมูลที่ได้มายังไม่มีความเหมาะสมกลุ่มจะต้องช่วยกันวิเคราะห์ว่าต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมและแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ผู้เรียนกลุ่มย่อยส่งตัวแทนนำเสนอผลการปฏิบัติกิจกรรม ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ครูผู้สอนบูรณาการแนวคิดจากการนำเสนอของผู้เรียน อธิบายแนวคิดของผู้เรียนให้ชัดเจน สรุปประเด็นและขยายแนวคิด



9.5 สรุปและประเมินค่าคำตอบ

เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปผลงานของตนเองและประเมินผลงานของตนว่าข้อมูลที่ค้นคว้ามามีความเหมาะสมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ความรู้ได้มามีความลุ่มลึกและตอบคำถามหรือปัญหาที่กำหนดไว้ตอนต้นได้เพียงพอหรือไม่ ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายข้อมูลที่ได้มา ครูผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสาระสำคัญองค์ความรู้ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครูผู้สอนเสนอแนะการปฏิบัติงานของกลุ่ม อธิบาย สรุปประเด็นและขยายแนวคิดของผู้เรียนให้ชัดเจน

9.6 การปรับปรุงการเรียนรู้และนำไปใช้

เป็นขั้นตอนพัฒนาทักษะรายกลุ่ม และทักษะรายบุคคลในการฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการแก้ปัญหา



10 ข้อเสนอแนะ



10.1 ข้อเสนอแนะทั่วไป มีดังนี้

10.1.1 ครูผู้สอนควรศึกษาผลการวิจัยนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาตนเองในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

10.1.2 ครูผู้สอนควรศึกษาทฤษฎี หลักการ แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในรูปแบบต่างๆ ให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม

10.1.3 ครูผู้สอนควรให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมการสอน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผู้เรียนร่วมกับการวิเคราะห์หลักสูตร และการจัดเตรียมสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

10.1.4 การให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าสำคัญเพราะจะทำให้ผู้เรียนมีความสนใจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

10.1.5 การแสวงหาคำตอบต่อประเด็นคำถามตามขั้นตอนของรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม ควรให้ผู้เรียนมีอิสระ มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่ม หรือระหว่างกลุ่ม

10.1.6 ครูผู้สอนควรได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น



10.2 ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ มีดังนี้

10.2.1 สถานศึกษาควรให้การส่งเสริม สนับสนุนในการอบรม สัมมนา เพื่อพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจถึงการใช้รูปแบบฯ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

10.2.2 สถานศึกษาควรสนับสนุนให้มีการใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และมีการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยวิธีการนิเทศกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้มีการพัฒนาต่อไป

10.2.3 ควรได้มีการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติซึ่งใช้ปัญหาเป็นฐานโดยกระบวนการกลุ่มในสถานศึกษาอื่นๆ เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างกว้างขวาง



11 เอกสารอ้างอิง



คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงาน. (2545). ตัวบ่งชี้การเรียนการสอนที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

ทิศนา แขมมณี. (2542). การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : โมเดลซิปปา (cippa model). วารสารวิชาการ, 2(5), 3-30.

ทิศนา แขมมณี. (2545). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. (พิมพ์ค

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,148,213