แนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

โดย: นายนฏกร บุญล้อม [IP: 184.22.149.xxx]
เมื่อ: 2022-04-10 21:55:52
แนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

โดย นายนฏกร บุญล้อม

ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี



บทคัดย่อ



ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้บังคับใช้ได้ และใน มาตรา 39 วรรคสอง กล่าวว่า ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งทางด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี จัดเป็นสถานศึกษาประเภทที่หนึ่งตามหลักเกณฑ์การกำหนดประเภทของสถานศึกษา ที่ดำเนินการบริหารสถานศึกษาเป็น 4 กลุ่มบริหาร ได้แก่ กลุ่มบริหารวิชาการ กลุ่มบริหารแผนงานและงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารทั่วไป ซึ่งผู้วิจัยได้รับผิดชอบให้บริหารกลุ่มบริหารงานบุคคล จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาการบริหารงานบุคคลทั้งหมด 20 งาน จากหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา โดยวิเคราะห์ลักษณะงานที่มีวิธีการและการดำเนินการใกล้เคียงกันมาเป็นงานในด้านเดียวกันทั้งหมด 5 ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานตามที่กำหนดสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ระยะเวลาในการดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือน เมษายน 2565 โดยดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานประกอบด้วย แบบสอบถาม และ แบบสัมภาษณ์ เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี 2) เปรียบเทียบการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี โดยจำแนกตาม วิทยฐานะ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงานและ 3) นำเสนอแนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ประชากรในการวิจัย คือ ผู้บริหาร ข้าราชการครู และพนักงานราชการ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ปีการศึกษา 2564 จำนวน 62 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.967 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที

ผลการวิจัยพบว่า

1. แนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.17, σ = 0.18) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมาก ทุกด้าน โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า ด้านระบบทะเบียนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (µ = 4.50, σ = 0.35) ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (µ = 4.45, σ = 0.27) ด้านงานวินัย ระบบราชการของครูและบุคลากรทางการศึกษา (µ = 4.42, σ = 0.28) ด้านงานพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (µ = 3.97, σ = 0.38) และด้านการส่งเสริมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (µ = 3.51, σ = 0.45)

2. การเปรียบเทียบแนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ ราชวิทยาลัย ลพบุรี เมื่อจำแนกตามวิทยฐานะ วุฒิการศึกษาในภาพรวมไม่แตกต่างกัน ส่วนประสบการณ์การทำงานมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. แนวทางการบริหารงานบุคคลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านงานบริหารทรัพยากรบุคคล ควรศึกษาสภาพบริบทด้านบริหารงานบุคคลของสถานศึกษา วางแผนการสรรหาอัตรากำลังให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงานต้นสังกัด สำรวจข้อมูล และจัดทำคู่มือการปฏิบัติกลุ่มการบริหารงานบุคคลของสถานศึกษา 2) ด้านงานระบบทะเบียนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรจัดทำทะเบียนประวัติ รวบรวมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและตรวจสอบความถูกต้อง ดำเนินการแจ้งเตือนบุคลากรเมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใบประกอบวิชาชีพ ฯลฯ 3) ด้านงานพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรจำแนกวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วางแผน ดำเนินการ โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรอย่างรอบด้าน ประสานหน่วยงานและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้วยวิธีที่หลากหลาย นิเทศ ติดตาม ให้คำปรึกษา แนะนำแก่บุคลากร เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานและควรได้รับการพัฒนาทบทวนความรู้เป็นระยะ 4) ด้านงานส่งเสริมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรศึกษา หลักเกณฑ์และวางแผนวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน ประชุมหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ชี้แจงหลักเกณฑ์วิธีการตามตัวชี้วัดแก่บุคลากรเพื่อเตรียมการสำหรับรับการประเมิน และสรุปผลการประเมินและรายงานต่อหน่วยงานต้นสังกัด และ 5) ด้านงานวินัย ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรสร้างความตระหนักอย่างสม่ำเสมอ ชี้แจงขั้นตอนการลงเวลาปฏิบัติงาน เปิดโอกาสให้บุคลากรร่วมจัดทำคู่มือและนำมาใช้ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรและปฏิบัติตามส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรด้านวินัยและการรักษาวินัย

ข้อเสนอแนะ

1. ควรมีคู่มือการปฏิบัติงานกลุ่มบริหารงานบุคคล ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

2. ควรมีการศึกษาและทำวิจัยต่อเนื่องต่อจากการวิจัยฉบับนี้


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,149,451