รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา

โดย: นายเกียรติ ปะหุสี [IP: 49.231.248.xxx]
เมื่อ: 2021-09-13 09:10:48
ชื่องานวิจัย รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา



ชื่อผู้วิจัย นายเกียรติ ปะหุสี



ปีการศึกษา 2563



บทคัดย่อ



การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 505 คน ได้แก่ ผู้ประสานงานโครงการ จำนวน 1 คน ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 32 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 225 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 225 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 10 คน และชุมชน จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 3 ฉบับ สำหรับผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน สำหรับนักเรียน และสำหรับผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์สำหรับผู้ประสานงานโครงการ เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความคิดเห็น และการวิเคราะห์เนื้อหา สำหรับการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ และแบบสัมภาษณ์

ผลการวิจัย พบว่า

1) ผลการประเมินบริบท โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการมีวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสม

2) ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก วิทยากรแพธทูเฮลท์ เอาใจใส่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมตามโครงการ

3) ผลการประเมินกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดมีเป้าหมายและกระบวนการทำงานเรื่องโควิด 19 ทั้งระบบโรงเรียน นักเรียนได้เรียนรู้การป้องกันโรคโควิด 19 อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งในและนอกห้องเรียนทุกคน ทุกระดับชั้น และมีการบริหารจัดการ การวางแผน การติดตาม การประเมินผลกิจกรรมของโครงการอย่างเป็นระบบและชัดเจน

4) ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผู้เรียนเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข สภาพแวดล้อมเป็นสุข



5) ผลการประเมินผลกระทบ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนมีเครือข่ายร่วมพัฒนาระหว่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน โรงเรียนได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในการจัดการศึกษา และ นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะของโรงเรียน

6) ผลการประเมินประสิทธิผล โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการสามารถพัฒนา ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และผู้ปกครอง ด้านความรู้ด้านการปฏิบัติตน ในการป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคโควิด 19

7) ผลการประเมินความยั่งยืน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการเพื่อนำไปสู่โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะอื่นๆ

8) ผลการประเมินการถ่ายโยงความรู้ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาวะสามารถเป็นแบบอย่างขยายผลให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้




ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,142,628