การพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

โดย: นางสาวเพชรรัตน์ ใชสงคราม [IP: 1.10.188.xxx]
เมื่อ: 2022-07-20 14:21:24
ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

ผู้วิจัย นายถนอม โยวัง

ระยะเวลาการวิจัย ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนตุลาคม 2564

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการเป็นวิทยากรจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำของ กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา 2) จัดทำแนวทางพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา 3) ดำเนินงานจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา และ 4) ศึกษาผลการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ดำเนินการวิจัยเป็น 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการเป็นวิทยากรการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำของ กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการศึกษาอาชีพที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการศึกษาอาชีพ จำนวน 60 คน ตอนที่ 2 การจัดทำแนวทางพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำร่างแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นประกอบด้วย ครู กศน. อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 18 คน คณะกรรมการสถานศึกษา กศน. อำเภอดอกคำใต้ จำนวน 8 คน และภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 10 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งตรวจสอบความเป็นไปได้ของร่างแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตอนที่ 3 การดำเนินงานจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน.อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ปิงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้กับนักศึกษา จำนวน 550 คน ตอนที่ 4 การศึกษาผลการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำโดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน.อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย 1) การประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาที่เรียนการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา จำนวน 226 คน ได้มาจากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (R.V. Krejcie& D.w. Morgan) การสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) และอาศัยตารางเลขสุ่ม (Random number) 2) การประเมินความเหมาะสมของการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน.อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 66 คน ได้แก่ ครู กศน. อำเภอดอกคำใต้จำนวน 15 คน และวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 51 คน ได้มาจากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (R.V. Krejcie & D.w. Morgan) การสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) และอาศัยตารางเลขสุ่ม (Random number)

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผลการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาด้านการจัดการศึกษาอาชีพ โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการศึกษาอาชีพ ได้ข้อมูลภูมิปัญญาด้านการจัดการศึกษาอาชีพ จำนวน 60 คน จำแนกเป็นเพศชาย 9 คน เพศหญิง 51 คน และนำข้อมูลมาจัดทำทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการศึกษาอาชีพ กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยความรู้ด้านการประกอบอาชีพของภูมิปัญญาท้องถิ่นส่วนใหญ่มาจากการถ่ายทอดกันเองภายในครอบครัว ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษด้วยการสั่งสมภูมิปัญญาเหล่านี้ ลูกหลานในยุคปัจจุบันจึงได้เลียนแบบทำกันสืบต่อกันมา มีความรู้จากตัวภูมิปัญญาในท้องถิ่นบ้าง และความรู้ในการประกอบอาชีพของภูมิปัญญาท้องถิ่นยังมาจากโครงการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐซึ่งองค์ความรู้ด้านอาชีพของภูมิปัญญาท้องถิ่นส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มอาชีพด้านอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรมในครัวเรือน เช่น การจักสานไม้ไผ่ การทอผ้า ผ้าด้นมือ การประดิษฐ์ของที่ระลึกประจำท้องถิ่น เป็นต้น และการผลิตสินค้าในครัวเรือนหรือการทำธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การทำขนมไทย การทำเครื่องแกง การแปรรูปอาหาร เป็นต้น และวิชาชีพกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ชื่งเป็นอาชีพจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้มีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่า และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ศิลปะประดิษฐ์ เป็นต้น

2. ผลการประชุมปฏิบัติการจัดทำร่างแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น และการตรวจสอบความเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน.อำเภอดอกคำใต้ โดยใช้วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ประกอบด้วย

1. การวางแผน (Plan) ได้แก่ 1.1) การสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 1.2) การประชาสัมพันธ์ 1.3) การรับสมัครนักศึกษา 1.4) การจัดทำหลักสูตรการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ 1.5) การเตรียมวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น 1.6) การจัดตั้งกลุ่มจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ 1.7) การแต่งตั้งวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น 1.8) การจัดหาวัสดุและอุปกรณ์เพื่อจัดการศึกษา

2. การจัดการเรียนรู้การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Do) ได้แก่ 2.1) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 2.2) การวัดและประเมินผล 2.3) การจบหลักสูตรและออกหลักฐานการจบหลักสูตร 2.4) การรายงานผลการดำเนินงาน 2.5) การเบิกค่าใช้จ่าย

3. การตรวจสอบการจัดการเรียนรู้การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Check) ได้แก่ 3.1) การกำกับและติดตาม 3.2) การนิเทศ ติดตามผลและประเมินผล

4. การปรับปรุง (Act) ได้แก่ 4.1) การปรับปรุงแก้ไข 4.2) การพัฒนาการจัดการเรียนรู้การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ

3. ผลการดำเนินงานจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ระหว่างวันที่ 25 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2564 ให้กับนักศึกษาที่สมัครเรียนการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ จำนวน 39 กลุ่ม 22 รายวิชา มีผู้เรียนจำนวน 550 คน จำแนกเป็นเพศชาย 43 คน เพศหญิง 507 คน ภายใต้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)

4. ผลการศึกษาผลการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น กศน. อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

4.1 ผลการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า นักศึกษามีความพึงพอใจเกี่ยวกับผลการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านหลักสูตรการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด นอกนั้น มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผล สำหรับข้อคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่า สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้มีอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้จากอาชีพที่เรียน และความรู้จากวิชาชีพที่ได้เรียนนำไปต่อยอดอาชีพที่ทำได้ ตามลำดับ สำหรับข้อเสนอแนะ คือ ควรเพิ่มงบประมาณด้านวัสดุฝึกอาชีพให้เพียงพอในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ควรมีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานอาชีพพื้นที่อื่น ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และมีประสบการณ์ทางอาชีพเพิ่มขึ้นและต้องการให้มีหลักสูตรอาชีพที่หลากหลาย ตามลำดับ

4.2 ผลการประเมินความเหมาะสมของการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า วิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น และครู กศน. อำเภอดอกคำใต้ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านการวางแผน (Plan) ด้านการตรวจสอบ (Check) การจัดการเรียนรู้การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ และด้านการจัดการเรียนรู้การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Do) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ ส่วนด้านการปรับปรุง (Act) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก สำหรับข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ โดยวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ของครัวเรือน และผู้เรียนมีความตั้งใจในการฝึกอาชีพเพื่อนำความรู้ไปใชในชีวิตประจำวัน สำหรับข้อเสนอแนะ คือ ควรเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ เพราะวัสดุ อุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ควรจัดสอนวิชาชีพให้กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และการเบิกค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาวิชาชีพ ควรมีความรวดเร็วเพิ่มขึ้น ตามลำดับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,151,510